“การสร้างเอกลักษณ์และตัวตนผ่านเรื่องราวรอบตัว” โดยคุณบี HR – The Next Gen

Blogger’s Bootcamp Week 1 ยังคงดำเนินต่อไปสู่ครึ่งหลังในหัวข้อ “การสร้างเอกลักษณ์และตัวตนผ่านเรื่องราวรอบตัว” โดยคุณบี อภิชาติ ขันธวิธี จากเพจเฟซบุ๊ก HR-The Next Gen
เริ่มต้นทำแฟนเพจ
ยู: ถามก่อนเลยว่าทำไมถึงใช้ชื่อว่า HR-The Next Gen
บี: เพราะตัวเองเป็น HR มาก่อนทำงานตั้งแต่ระดับ officer จนมาถึง manager แล้วตอนนั้นติดซีรีส์ Hormone the Next Gen. รู้สึกว่าคำนี้ติดหูและมีความหมายที่ดีซ่อนอยู่ เมื่อก่อน HR อาจถูกมองว่าเป็นครูฝ่ายปกครอง คอยจับคนมาสาย คอยตัดเงินเดือน เช็ควันลา เช็คว่าทำตามระเบียบมั้ย ซึ่งมันเป็นยุคเก่าแล้ว HR ควรเป็นคนที่ซัพพอร์ตคนทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม เป็น gen ใหม่ จึงอยากนำเสนอว่า HR gen ใหม่ต้องหน้าตายังไง และทำยังไง
ยู: ตอนทำเราเซ็ตคอนเทนต์เพจยังไง
บี: ทำเพจมาปีครึ่ง แรกๆเป็นมนุษย์หน้ากาก (ไม่เปิดเผยตัว) นำเสนอคอนเทนต์แรกๆ เป็น HR แบบวิชาการ ให้คน HR อ่านแล้วได้ประโยชน์ ซึ่งก็ค่อนข้างสงบ (หัวเราะ)
จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อยกคำพูดของผู้บริหารคนนึงมาว่า ไม่ชอบคนทำงานหนัก ชอบคนทำงานฉลาด 6 โมงเย็นก็ควรกลับบ้านได้แล้ว ปรากฏว่า viral มาก ตอนนั้นเลยรู้สึกว่าต้องเปลี่ยน target group แทนที่จะเป็น HR ด้วยกัน กลายมาเป็นมนุษย์เงินเดือน แล้วทำให้เรากลายเป็น HR ของมนุษย์เงินเดือนทั้งประเทศ
ช่วงตั้งต้นหาสิ่งที่คนอ่านอยากอ่านก่อน และสร้าง trust ให้ได้ ใครจะเชื่อเราถ้าเราไม่ทำตัวให้น่าเชื่อถือ ตอนนั้นเลยดึงคำพูดของผู้บริหารหรือ influencer ดังๆมาช่วยประกอบ
หาเรื่องมาเขียนยังไง
บี: ใช้ประสบการณ์เลย ทำงานมา 10 กว่าปี จะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรเช่น employee engagement มีช่วงนึงที่คนทำงานออกไปตามฝัน จะทำยังไงให้คนยังอยู่ เลยกลายมาเป็นเรื่อง “เราไม่ไร้ค่าถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือน” หรือหาอะไรที่ทำให้คนเห็นด้วยเช่นการหยิบ pain point ของคนขึ้นมาเขียน ซึ่งบางทีเป็นเรื่องที่คนไม่กล้าพูดหรือเขียน เช่น “เรื่องที่คนเราลาออกเพราะอะไร” “ทำงานแทบตายทำไมไม่ก้าวหน้า” “หัวหน้าจับฉลากมาหรือเปล่า?”
ยู: ได้ทักษะการเล่าเรื่องมาจากไหน
บี: มาจากการอ่าน เพราะชอบอ่านหนังสือแล้วรู้สึกว่าเราน่าจะเขียนได้ มันจะมีแรงบันดาลใจให้เขียนเยอะ วาง position ตัวเองเหมือนอยู่ในวงเหล้าแล้วเล่าให้เพื่อนฟังแบบกรึ่มๆ
ยู: เป็น HR แล้วมีผลกับงานเขียนอย่างไรบ้าง
บี: ข้อดีของ HR คือวัตถุดิบเยอะ ทำงานมาหลากหลายได้ทั้งใกล้ชิดผู้บริหารจนถึงระดับ operator ทำให้เห็นว่าขัดแย้งกันยังไง ไม่เข้าใจกันตรงไหน แล้วเขียนตอบคนเหล่านั้นให้ครบทุกระดับ
มีจังหวะการปล่อยคอนเทนต์ยังไง
บี: มีสองแบบ แบบที่วางแผนไว้ก่อน เช่น ช่วงเด็กจบใหม่จะเขียนเกี่ยวกับการสัมภาษณ์งาน ช่วงเปิดปีงบใหม่จะเกี่ยวกับการเขียน resume หรือช่วงโบนัสออก ก็จะเขียนว่าโบนัสมีที่มายังไง ทำไมถึงได้หรือไม่ได้โบนัส ทำไมถึงได้มากหรือน้อยกว่าคนอื่น
กับแบบตามอารมณ์เช่นคนใกล้ชิดมีปัญหาไม่เข้าใจกับเจ้านาย ก็เป็นไอเดียสำหรับเขียนได้ เรื่องที่เอามาเขียนจะดู 2 ข้อ
- มองว่ามัน mass มั้ย มันจะเข้าถึงคนได้มากและเราก็ได้ feedback กลับมาว่าเค้าแก้ปัญหายังไง
- ถ้าไม่ mass มันสำคัญมั้ย เช่นการลาออกเนื่องจากเราเป็นแม่ต้องลาออกไปเลี้ยงลูก อาจจะไม่ mass แต่เป็นเรื่องสำคัญ
คอนเทนต์ของเพจจะยาวมาก มีเทคนิคยังไง
บี:จริงๆนี่คือพยายามเขียนสั้นแล้ว (หัวเราะ) ไม่อยากแบ่งตอนเพราะไม่รู้ว่าเค้าจะกลับมาอ่านมั้ย ประเมินก่อนว่าคนจะอ่านตอนไหนเยอะสุดเช่นบนรถไฟฟ้า ไปทำงาน พักเที่ยง เลิกงาน กะว่าซัก 20 นาทีต้องทำให้เค้าเก็ต อันที่ยาวๆ ลองหาว่าจุดไหนที่เป็นจุดพักสายตาที่ชวนให้อ่านต่อ มีคำลงท้ายที่ชวนตามเช่น อยากรู้ใช่มั้ยล่ะ? อาจจะหย่อนไว้ ในย่อหน้ากลางๆของโพส
บริหารเวลายังไงทั้งทำงาน ยังมีบล็อก มีหนังสืออีก
บี: ผมเป็นคนไม่บริหารเวลาเลยนะ อยากทำตอนไหนทำ
ยู: อ้าวงั้นวันนี้แยกย้ายครับ ขอบคุณครับ (ฮา)
บี: เพจจะลงทุกเช้าทุกวันตอน 7 โมง 15 ความสม่ำเสมอจะทำให้คนติดเรา เราเป็นเหมือนเรื่องเล่าเช้านี้ ที่ 7 โมง 15 เพจนี้ต้องมา
ยู: ทำยังไงให้สม่ำเสมอ
บี: ตั้งใจ และคิดว่าเรารู้สึกแย่ถ้าทำคอนเทนต์ออกมาไม่ดี เลยต้องตั้งใจ ถ้าไม่ดีสู้ไม่ทำดีกว่า
ยู: คิดว่าเวลาที่เหมาะสมกับการโพสเป็นยังไง
บี: วันอาทิตย์ วันหยุดจะโพสอะไรสบายๆ เป็นร้านกาแฟ สถานที่เที่ยว วันธรรมดาห้าทุ่มจะเริ่มเขียนโพส ตั้งเวลาไว้ 7 โมง 15 ที่ไม่เลือกตอนเลิกงานเพราะคนเหนื่อยแล้ว ตอนเย็นเว้นว่างไว้ อาจมีลงโฆษณาที่ไม่ยาว อ่านง่ายๆ เบาๆ
คุณบีเกริ่นไว้ตอนแรกว่าในเพจนี้จะไม่ใช้คำหยาบ ทำไมถึงเลือกแนวทางนั้น
บี: ในเพจเราจะไม่ใช่คำหยาบ ถ้ามีคอมเมนต์คำหยาบมาจะให้แก้ไขภายใน 5 นาที ถ้าไม่แก้ก็จะลบเลย เราโฟกัสที่วัยทำงาน อยากให้ professional ไม่อยากให้คำพูดที่ดึงอารมณ์มาบิดเบือนประเด็น และช่วยป้องกันคนมาคอมเมนต์เองด้วย เกิด HR หรือเจ้านายมาเห็นเราอาจจะเสียงาน เราอาจจะบอกว่าเราแยกแยะได้ แต่อาจเกิดคำถามว่าบริษัทควรมาเสี่ยงกับบุคลิกมุมนี้ของคุณมั้ย?
ยู: มีแนวทางพัฒนาคอนเทนต์ตัวเองยังไงบ้าง
บี: บางทีมีคน like เยอะ แล้วรู้สึกว่าพูดอะไรก็ได้ ก็ต้องดึงตัวเองกลับมาว่าเราจะเป็น HR ของคนทั้งประเทศ ไม่ควรเลือกข้างแต่ต้องอยู่ตรงกลาง คุยกับตัวเองให้ชัดว่าแก่นของตัวเองคืออะไร
ยู: ก็คือควรโฟกัสว่าเรามีตัวตนเป็นยังไง
บี: ตัวตนที่ว่าก็มีสองแบบ แบบแรกคือทำในสไตล์ตัวเอง อาศัยความเป็น artist ของตัวเอง เหมือนมีออร่าดึงคนให้เข้ามา กับอีกแบบคือต้องเดินไปให้คนรู้จัก ก็ต้องคิดว่าทำยังไงให้คนรู้จัก เราต้องเป็นฝ่ายให้อะไรก่อนหรือเปล่า
มีฝันอะไรวาง Business Model ไว้ด้วยไม่งั้นอาจทำได้ไม่นาน
ยู: ตามที่พี่นิ้วกลมเคยกล่าวเอาไว้ เพจนี้วาง business model ไว้ยังไง
บี: มองว่ารายการนี้เป็นรายการทีวีที่เป็นสื่อให้องค์กรเข้ามาหา HR-The Next Gen ในอนาคตจะเป็นเหมือนเว็บรีวิวองค์กร เป็นช่องทางที่จะทำให้บริษัทที่เป็นที่รู้จักขึ้นมา
ยู:บางคนชอบเที่ยว บางคนชอบกิน เลยมาเปิดบล็อก แล้วเรามี passion อะไร
บี: เราอยากช่วยเหลือคน อาจะไม่ใช่เงินทอง แต่เป็นการช่วยให้เข้าใจสถานการณณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้ามันไม่ร้ายแรง เราปรับมุมคิดอะไรได้ ถ้ามันร้ายแรงเราควรถอยมั้ย เคยมีเคสจะฆ่าตัวตายเราก็โทรคุย เป็น HR ให้พนักงานจริงๆ
Q&A
เวลาลง content แล้วมีข้อผิดพลาด รับมือยังไง
ไม่ edit แต่จะลงใหม่เลย เพราะคอมเมนต์เก่าๆที่ based on ข้อมูลผิดจะลงไปแล้วคอมเมนต์กับโพสมันจะขัดแย้งกัน ถ้าเป็นบล็อกรีบแก้ไข แล้วเขียนไว้ด้านบนของโพสให้ชัดเจน key คือรักษาความน่าเชื่อถือให้ได้ ลองคิดดูว่าทำแล้วได้อะไรเสียอะไร
ถ้าอีกหน่อยต้องทำรีวิวองค์กรขึ้นมาจริงๆ เราจะรักษาความเป็นกลางได้ยังไง ในเมื่อองค์กรก็อยากให้บริษัทออกมาดี แต่พนักงานอาจเห็นว่าไม่ดี
ควรจะมีเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานกลางขึ้นมา เช่นฐานเงินเดือน สูง/กลาง/ต่ำ สวัสดิการวันลา มาก/น้อย ถ้าไม่ยอมรับเครื่องมือที่เราตั้งไว้ก็ไม่รับรีวิว
เคยคิดอยากลาออกไปทำบล็อกแบบเต็มเวลามั้ย
คิดตลอด แต่การลาออกมันมีทั้งแรงดึงและแรงผลัก
แรงดึงคือโอกาสใหม่ๆ ความน่าตื่นเต้น รายได้ที่เพิ่มขึ้น
ในขณะที่แรงผลักคืองานเก่าไม่โอเค หัวหน้าไม่ดี เพื่อนร่วมงานไม่ดี
ให้วิเคราะห์ว่าเราลาออกด้วยอะไร ถ้าแรงผลักน้อย แรงดึงต้องมาก ถ้าแรงผลักมาก แรงดึงนิดเดียวก็อาจจะเพียงพอ ที่สำคัญคือเราต้องประเมินว่าเรามีภาระแค่ไหน อยู่โดยไม่มีรายได้ได้กี่เดือน
เมื่อเพจเริ่มดัง ควรเตรียมตัวยังไง
ลองเขียน Business Model Canvas ของบล็อกเราออกมาจะช่วยได้ ลองคิดว่าจะช่วยสังคมได้แค่ไหน พอเราช่วยสังคมได้ก็จะมี return กลับมาเอง การมี business model ที่ชัดจะช่วยให้เราเห็นว่าเราพร้อมแค่ไหนที่จะออกมาทำบล็อกเป็นอาชีพ และช่วยบอกว่าจะทำยังไงให้บล็อกเรายั่งยืนได้
ก็จบไปแล้วสำหรับ Blogger’s Bootcamp สัปดาห์แรก แค่สัปดาห์แรกเนื้อหายังเข้มข้นขนาดนี้ สัปดาห์ต่อไปเนื้อหาจะพีคขนาดไหน อย่าลืมติดตามกันต่อในสัปดาห์หน้านะครับ